นิทานพื้นบ้านภาคอีสาน เรื่อง เชตพน

นิทานพื้นบ้านภาคอีสาน เรื่อง เชตพน อักษรธรรม ๑ ผูก วัดบ้านกอก ต.บ้านกอก อ.เขื่องใน จ. อุบลราชธานี พระเจ้ากรุงศรีอยุธยาทราบข่าวว่า วัดพระเชตพน เมืองสาวัตถีเจริญรุ่งเรืองมาก ประสงค์จะทราบความจริงและจะได้คัมภีร์พระอภิธรรม พระองค์จึงแต่งราชฑูตคณะหนึ่งไปสืบดู คณะราชฑูตที่ไปมีขุนไทยเป็นหัวหน้าออกขุนเมืองลิง, ออกขุนพล , และออกขุนพลายเป็นรองนายกรวิกเป็นองครักษ์ และมีคนโบราณใหญ่สูง ๖ ศอก เป็นคนนำทางพร้อมกับไพร่ ๕๐๐ คน เป็นชาย ๔๐๐ คน หญิง ๑๐๐ คน การเดินทางใช้ช้างและม้าเป็นพาหนะ คณะราชฑูตออกเดินทางประมาณเดือนอ้าย เดินทางไป ๓ เดือน ถึงเมืองหงสาวดีเข้าเฝ้าเจ้าเมืองและพักอยู่ที่นั้น ๓ วัน แล้วเดินทางต่อไปอีก ๓ เดือน ๑๔ วัน ถึงปลายแดนเมืองหงสาวดีมีเจดีย์ใหญ่ ชื่อพระธาตุชะกุ้ง (ชเวดากอง) พากันบูชาแล้วเดินทางเข้าป่าหิมพานต์พบสิงสาราสัตว์ ภูติผีปีศาจและธรรมชาติต่างๆ เป็นแวลา ๗ ปี จนถึงแม่น้ำมหิง ไพร่หนุ่มสาวที่เดินไปด้วยได้แต่งงานให้กำเนิดเด็กประมาณ ๓๐๐ คน คณะฑูตได้เดินทางไปอีก ๑ ปี จึงไปพบพระฤาษีไตรคำ จึงได้ทราบข่าวเรื่องมาลัยเจดีย์วัดพระเชตพน เมืองสาวัตถี ซึ่งอยู่บนเขาเนมินธร์ ริมฝั่งแม่น้ำอจิรวดี ขณะเดินทางขึ้นเขาเนมินธร์ผู้คนป่วยเป็นโรคลงท้องตายไป ๒๐๕ คน ที่เหลือจึงเดินทางต่อไปเป็นเวลาแปดวันก็ถึงเมืองสาวัตถี เข้าเฝ้าถวายราชบรรณาการแด่กษัตริย์เมืองสาวัตถี พักอยู่ที่นั้นคืนหนึ่ง รุ่งขึ้นจึงเดินทางไปวัดพระเชตพนเข้าเฝ้าถวายสักการะแด่สมเด็จพระสังฆราช แล้วบูชาพระมาลัยเจดีย์ วัดส่วนต่างๆ ของเจดีย์ ไว้ คณะราชฑูตได้ทูลขอพระอภิธรรมปิฏก ทั้ง ๗ คัมภีร์ สมเด็จพระสังฆราชก็ประทานให้ตามประสงค์ ชายที่ไปด้วยมีความเลื่อมใสบวชเป็นภิกษุอยู่ที่วัดเชตพน ๑๕ คน นอกนั้นพักอยู่ที่นั้น ๑ เดือนแล้วเดินทางกลับ ขากลับได้ชมหมู่บ้านหิมพานต์ ซึ่งมีความเจริญมาก แล้วเดินทางกลับกรุงศรีอยุธยาทั้ง ๕๘๘ คน ซึ่งเมื่อเดินทางไปมี ๕๐๖ คน เกิดใหม่ ๓๐๐ คน รวม ๘๐๐ คน ตายเสียระหว่างทาง ๒๐๕ คน บวชที่วัดพระเชตพน ๑๕ คน ขากลับพระเจ้ากรุงศรีอยุธยาโปรดให้คนไปรับถึงเมืองหงสาวดี และทรงต้อนรับอย่างดี