นิทานพื้นบ้านภาคอีสาน เรื่อง ท้าวหงส์หิน

นิทานพื้นบ้านภาคอีสาน เรื่อง ท้าวหงส์หิน อักษรธรรม ๑ ผูก วัดอินทาราม อ.กุดข้าวปุ้น จ. อุบลราชธานี ที่เมืองพาราณสี เจ้าพระราชาเมืองนี้มีมเหสี ๗ คน นางวิมาลาซึ่งเป็นมเหสีเอกได้ตั้งครรภ์ หมอโหรทายว่าพระโพธิสัตว์จะมาเกิดกับนาง ทำให้มเหสีรองทั้ง ๖ คน ซึ่งตั้งครรภ์เหมือนกันมีจิตใจริษยา เพราะลูกของนางล้วนเป็นมนุษย์ผู้ชายธรรมดาเท่านั้น จึงหาทางกลั่นแกล้ง เมื่อนางวิมาลาคลอดบุตรเป็นชาย ได้ลอบเอาสุนัขมาเปลี่ยนให้ ส่วนทารกนั้นก็โยนทิ้งไป พระอินทร์จึงนำทารกนั้นไปเลี้ยงบนสวรรค์ พระราชาเมืองพาราณสีเข้าใจผิดคิดว่าพระมเหสีสมสู่กับสุนัขจึงขับไล่นางเสียจากเมือง นางวิมาลาจึงไปอาศัยอยู่กับคนเฝ้าสวนของพระราชา เมื่อพระอินทร์ทราบว่านางต้องการพบลูก จึงเนรมิตรก้อนหินให้เป็นหงส์ให้กุมารขี่เหาะลงมาจากสวรรค์มาหาแม่ กุมารทั้งหกของมเหสีรองเมื่อเติบโตขึ้นได้นำสะบ้าทองคำมาเล่นกันในสวน มีการแข่งขันสะบ้ากันระหว่างกุมารลูกของนางวิมาลาและกุมารทั้ง ๖ ทำให้กุมารนั้นชนะการแข่งขันได้ทองคำไปให้นางวิมาลาผู้เป็นแม่ทุกวัน ต่อมามียักษ์กินคนมาจับคนกินในเมืองนี้ ยักษ์นี้จะมาจับคนกินทุก ๗ วัน กุมารน้อยได้ฆ่ายักษ์ตาย กุมารทั้งหกอ้างว่าตนเป็นผู้ฆ่ายักษ์ โดยจ้างกุมารน้อยให้ปิดบังความจริงไว้ ท้าวพาราณสีจึงจัดงานสมโภชกุมารทั้งหกว่าเป็นผู้กล้าหาญ และมอบภาระให้กุมารทั้งหกไปตามหาย่าที่เคยถูกยักษ์ลักพาตัวออกไป กุมารทั้งหกจึงขอนำเอากุมารน้อยไปด้วย เมื่อขบวนทัพยกมาถึงแม่น้ำแห่งหนึ่งหกกุมารขอรออยู่ริมฝั่งแม่น้ำไม่ยอมเดินทางไปปราบยักษ์ ให้แต่เพียงกุมารน้อยไปแต่เพียงผู้เดียว กุมารน้อยขี่หงส์หินข้ามแม่น้ำไปถึงเมืองยักษ์แห่งหนึ่ง พระยายักษ์ชื่อวัสสวโร ยักษ์ได้อ่อนน้อมและยกลูกสาวให้เป็นภรรยา ชื่อนางมุขวดี เมื่อไปถึงเมืองกุมภัณฑ์ พระยายักษ์กุมภัณฑ์ได้อ่อนน้อมยกลูกสาวให้เป็นภรรยาชื่อนางจุลคันธา เมื่อไปถึงเมืองอนุมา พระยายักษ์อนุมาได้อ่อนน้อมและยกลูกสาวให้ ชื่อนางศรีจันทรา กุมารน้อยได้รบพุ่งกับยักษ์มากมายในที่สุดได้พาย่าออกจากเมืองยักษ์ได้ เมื่อพาย่ามาถึงริมฝั่งแม่น้ำกุมารน้อยได้ถูกหกกุมารฆ่าเสีย แล้วพาย่าไปเมืองพาราณสี อ้างว่าตนเป็นผู้ช่วยเหลือย่า ทางเมืองก็ได้มีการสมโภชรับขวัญเป็นงานใหญ่ ฝ่ายธิดายักษ์ทั้งสามพบว่าสามีของตนถูกฆ่าตายเสียแล้ว จึงโศกเศร้ารำพันถึงสามี พระอินทร์ได้แปลงกายเป็นหนุ่มรูปงามมาเกี้ยวพาราศรีให้นางปลงใจด้วย นางก็ไม่ยอมตกลง พระอินทร์จึงแปลงเป็นยักษ์จะกินศพกุมารน้อย นางทั้งสามก็ไม่ยอมให้กิน ขอยอมตายแทน พระอินทร์จึงแปลงกายเป็นพราหมณ์เอาน้ำทิพย์มาชุบชีวิตกุมารน้อยให้ฟื้นขึ้นมา ส่วนย่าได้เล่าให้เจ้าเมืองพาราณสีผู้เป็นโอรสฟังว่าผู้ช่วยย่าออกมาได้ คือกุมารผู้ขี่หงส์หินเหาะได้ เจ้าเมืองพาราณสีจึงสั่งให้ทำประตูเข้างานสมโภชมีเพียงประตูเดียวเพื่อดูว่ากุมารน้อยขี่หงส์หินเป็นใคร ย่ากับกุมารน้อยได้พบกันและท้าวพาราณสีได้สั่งให้ประหารชีวิตแม่ลูกทั้ง ๑๒ คนนั้นเสียที่อิจฉาริษยาและปองร้ายผู้อื่น และอภิเษกให้กุมารน้อยผู้ขี่หงส์หิน และธิดายักษ์ทั้ง ๓ คน ครองบ้านเมืองสืบต่อมา