นิทานพื้นบ้านภาคอีสาน เรื่อง พื้นเมืองอุบล
View: 9231

นิทานพื้นบ้านภาคอีสาน เรื่อง พื้นเมืองอุบล อักษรธรรม ๑ ผูก วัดบ้านหัวเรือ อ.เมือง จ.อุบลราชธานี เป็นการเล่าประวัติของการอพยพกลุ่มพระวอพระตา มาจากเวียงจันทน์ถึงการก่อตั้งเมืองอุบลในบริเวณที่เป็นจังหวัดอุบลราชธานี ปัจจุบันนี้เชื้อสายของผู้คนที่อพยพมาก่อตั้งเมืองอุบลมาจากบ้านหินโงม ที่เวียงจันทน์ โดยมีพระตาเป็นหัวหน้า พระตาเป็นผู้มีอำนาจมากปกครองบริวารจำนวนหนึ่ง พระตามีลูกชาย ๓ คน คือ ท้าววอ ท้าวคำผง ท้าวพรม กษัตริย์เวียงจันทน์ได้ตั้งท้าววอเป็นพระวอ เป็นนายกองคุมกองนอก เมื่อกษัตริย์เวียงจันทน์สวรรคต กษัตริย์องค์ใหม่ได้ข่มเหงลูกสาวของพระตา พระตาจึงพาไพร่พลอพยพหนีจากเวียงจันทน์ โดยมีไพร่พลเป็นครัวเรือนสามหมื่นเศษ และเป็นทหารอีกสี่พันคน โดยแบ่งเป็นสามกอง คือ หลวงราชโภชนัย เป็นกองหน้า กำลังคนหมื่นเศษ ท้าวนาม เป็นกองหลัง กำลังคนหมื่นเศษ พระตา พระวอ เป็นกองกลาง และมีท้าวชม ท้าวสูน เป็นกองสอดแนม เมื่อเดินทางได้ ๑ เดือน ถึงหนองบัวลำภู โดยกองของพระตาอยู่ที่ใกล้กับภูวง หลวงราชโภชนัย ตั้งอยู่ที่บ้านผ้าขาวพรรณาใกล้กับลำน้ำสงคราม ท้าวนามไปตั้งอยู่ที่ภูเวียง กษัตริย์เวียงจันทน์ได้ยกทัพมาประมาณหมื่นคน มาปราบโดยให้เมืองแสนและเมืองจันเป็นแม่ทัพ มาตั้งพักทัพที่บริเวณที่เป็นหนองคายในปัจจุบัน กองสอดแนมฝ่ายพระตารายงานให้พระตาทราบ ดังนั้นทัพเวียงจันทน์จึงถูกซุ่มโจมตีอย่างยับเยิน เวียงจันทน์เสียทหารประมาณ ๕๐๐๐ คน ฝ่ายพระตาได้อาวุธ ช้าง ม้า ทรัพย์สินเป็นอันมาก ในวันเสาร์ขึ้น ๖ ค่ำ เดือน ๕ ทัพเวียงจันทน์ได้ยกมาตีที่หนองบัวลำภู แต่ก็พ่ายแพ้กลับไป พระวอชนช้างฆ่าอุปราชเวียงจันทน์ตาย พระตาได้ตั้งบ้านเมืองที่หนองบัวลำภู ๗ ปี ต่อมากษัตริย์เวียงจันทน์ได้ขอความร่วมมือไปยังเมืองเชียงใหม่ขอกองทัพมาช่วยปราบพระตา กษัตริย์เชียงใหม่ยกทัพมาช่วยรบ พระตาจึงพาบริวารมาตั้งที่เมืองร้อยเอ็ดในปัจจุบัน รบกันตั้งแต่เดือนยี่ แรมแปดค่ำ วันจันทร์จนถึงเดือนสามวันเพ็ญจึงล่าถอย แต่สูญเสียผู้คนไม่มาก เพราะรบไปถอยไป พระตาเดินทางไปจากร้อยเอ็ดอีก ๔ เดือน ถึงเมืองจำปาศักดิ์ เจ้าเมืองจำปาศักดิ์ ไม่อยากให้อยู่ด้วยเกรงจะเป็นการชักศึกเข้าบ้าน ได้มาตั้งอยู่ที่ใกล้แม่น้ำพลึง คือบ้านดู่ บ้านแก ตั้งอยู่บริเวณนี้อีก ๑๐ ปี เจ้านาม ตั้งอยู่พรรณาผ้าขาวร้อยเอ็ด กษัตริย์เวียงจันทน์ยกกองทัพเรือมีกำลังพลประมาณสองหมื่น รบกันตั้งแต่เดือน ๔ ถึงเดือน ๕ ข้างแรม รบอยู่ ๒ เดือนก็ไม่แพ้ชนะแก่กัน พระวอขี่ม้าออกมารบอย่างกล้าหาญต่อสู้สังหารคนตายไปประมาณพันคน และพระวอขาดใจตายในที่รบเนื่องจากเหนื่อยบอบช้ำจากการรบ ท้าวคำผง ท้าวทิดพรม ได้ช่วยกันและรักษาเมืองให้มั่นคงไว้ พระตาได้มีสารมาบอกทูลพระเจ้าตากสินแห่งกรุงธนบุรี พระเจ้าตากสินจึงส่งทัพมาช่วย รบกันตั้งแต่เดือน ๔ ถึงเดือน ๘ วันจันทร์ ขึ้น ๑๒ ค่ำ ปีมะโรง กษัตริย์จำปาศักดิ์ออกมาอ่อนน้อมส่งส่วยต่อไทย ท้าวคำผงได้เป็นแม่ทัพยกไปตีเวียงจันทน์ร่วมกับทัพไทย เวียงจันทน์ได้อ่อนน้อมส่งส่วยต่อไทย ต่อมาหลวงพระบาง ได้อ่อนน้อมต่อไทย ลาวทั้ง ๔ กลุ่ม คือลาวในอีสาน เวียงจันทน์ หลวงพระบาง จำปาศักดิ์ได้ขึ้นต่อไทย ตั้งแต่นั้นทัพไทยได้นำเอาพระแก้วมรกต นางเขียวค่อมราชธิดาเวียงจันทน์กลับไทย พระตาได้สิ้นชีวิตเมื่ออายุได้ ๗๘ ปี สอนให้ลูกหลานประพฤติปฏิบัติตนตามประเพณี และมีหลักการปกครองแทรกอยู่ด้วย และสั่งให้อาศัยอยู่ใกล้แม่น้ำมูล พระตาตายในวันศุกร์ เดือน ๓ ขึ้น ๑๓ ค่ำ และในเดือน ๔ ขึ้น ๑๑ ค่ำ ทำศพกลางทุ่งใหญ่ จัดตั้งวางศพบนเมรุนกหัสดีลิงค์สมโภชศพ ๗ วัน ๗ คืน และก่อธาตุพระวอ พระตาไว้นอกเมือง