นิทานพื้นบ้านภาคอีสาน เรื่อง ฮีต ๑๒ คอง ๑๔ (ฮีตบ้านคองเมือง)

| บันเทิง | นิยาย-เรื่องสั้น | 4387
นิทานพื้นบ้านภาคอีสาน เรื่อง ฮีต ๑๒ คอง ๑๔ (ฮีตบ้านคองเมือง)

อักษรธรรม ๑ ผูก วัดหนองบัว ต.ท่าหลวง อ.ตระการพืชผล จ. อุบลราชธานี

          ที่เมืองโพธิญาณนคร มีความเดือดร้อนเนื่องจากความเจ็บไข้ และยากจน เพิ่มมากขึ้น เศรษฐีคนหนึ่งจึงหาเหตุว่าเป็นเพราะอะไรบ้านเมืองจึงเดือดร้อนเช่นนี้ พระเถระชั้นผู้ใหญ่ของเมืองจึงแจ้งว่า เนื่องมาจากคนละทิ้งพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า บ้านเมืองจึงเดือดร้อนวุ่นวายเช่นนี้ มหาเถระแจ้งต่อไปว่า ถ้าทุกคนในบ้านเมืองปฏิบัติธรรมบ้านเมืองจะสุกใสรุ่งเรือง ศีลที่คนต้องปฏิบัติคือ ศีล ๕ และศีล ๘ และปฏิบัติตามฮีต ๑๒ คอง ๑๔

           ฮีต ๑๒ คือ ประเพณีทางศาสนาทั้ง ๑๒ เดือน ได้แก่  เดือน ๕ บุญสงกรานต์ ถือว่าเป็นวันขึ้นปีใหม่ ให้เอาดอกไม้ธูปเทียนไปวัด เลี้ยงภัตตาหารพระสงฆ์ ฟังเทศน์ มีบายศรีสู่ขวัญ เอาน้ำหอมผสมขมิ้นรดสรงแก่ผู้เฒ่าผู้แก่ ผู้ที่เคารพนับถือ   เดือน ๖  บุญบั้งไฟ ทำพิธีส่งบั้งไฟไปขอฝนจากพญาแถน  เป็นการทำบุญเลี้ยงพระก่อนหน้าการทำนา แห่บั้งไฟเป็นการรื่นเริงสนุกสนาน เดือน ๗ บุญซำฮะ เป็นการทำบุญเพื่อล้างสิ่งชั่วร้าย เช่น ผีบ้านเรือน หลักเมืองเพื่อความเป็นศิริมงคลของปี นิมนต์พระสงฆ์มาสวดมนต์เย็น และตอนเช้ามีการเลี้ยงพระ ประพรมน้ำพระพุทธมนต์  ทำความสะอาดบ้าน เซ่นผีประจำหมู่บ้าน ผีปู่ย่าตายาย ผีไร่นา ผีหลักเมือง เดือน ๘ บุญเข้าพรรษา เอาข้าวตอกดอกไม้ ขี้ผึ้ง ธูปเทียนไปรวมกันที่วัด ฟังเทศน์ อุณณหัสสาวิไชย และปัญญาบารมี หล่อเทียนพรรษาถวายวัด ถวายปัจจัย เช่น ข้าวสาร อาหารแห้งน้ำมันแก่พระเพื่อใช้ในพรรษา เดือน ๙ บุญข้าวประดับดิน เลี้ยงภัตตาหารสงฆ์ ทำบังสกุลส่งบุญไปให้ผู้ตายฟังสวดพาหุง อาหารเซ่นผีไปวางตามพื้นดิน ตามป่า เพื่อผีไม่มีญาติจะได้กิน เดือน ๑๐ บุญข้าวสาก เป็นการถวายสลากภัตรแก่พระสงฆ์ พระเณรรูปใดจับสลากได้ของผู้ใดผู้นั้นถวายสิ่งของแก่พระสงฆ์ และเอาอาหารสำหรับเปรตไปแขวนไว้ตามต้นไม้ ถวายผ้าอาบน้ำ เดือน ๑๑ บุญออกพรรษา ถวายภัตตาหารพระสงฆ์ มีพิธีถวายปราสาทผึ้ง ไหลเรือไฟ (คล้ายลอยกระทงของภาคกลาง) ตักบาตรเทโว   เดือน ๑๒ บุญกฐิน ถือว่าเป็นบุญที่ให้กุศลแรง ถวายผ้ากฐิน   เดือนอ้าย บุญเข้ากรรม เลี้ยงพระ เนื่องในพิธีที่พระสงฆ์ผู้ต้องอาบัติสังฆาทิเสสมาขอแสดงอาบัติของตนแก่ที่ประชุมสงฆ์ เดือนยี่ บุญคูนลาน เป็นบุญหลังการเก็บเกี่ยว เพื่อความเป็นศิริมงคล  โดยการประพรมน้ำพุทธมนต์ยุ้งฉางลานข้าว ทำขวัญข้าว เก็บฟืนไว้ใช้ เดือนสาม บุญข้าวจี่ ถวายอาหารพระที่วัด ฟังเทศน์ ฟังธรรมมีการนำข้าวจี่ไปถวายพระด้วย เดือนสี่ บุญพระเวส เป็นการเลี้ยงพระและฟังเทศน์มหาชาติ มีกิจกรรมที่สำคัญ  คือ แห่กัณฑ์หลอน แห่ข้าวพันก้อน เทศน์มาลัยหมื่น มาลัยแสน อ่านสังกาสเทศน์มหาชาติ

	คอง ๑๔ คือ ประเพณีของชาวบ้าน เป็นวัฒนธรรมและกฎกติกาของชุมชน หรือวิถีชีวิตของคนในสังคมนั้นๆ เป็นการปฏิบัติให้ถูกต้องตามมารยาทในสังคม เช่น ปลูกบ้านต้องวางสายสิญจน์  ก่อนขึ้นบ้านต้องล้างเท้า ก่อนนอนให้ล้างมือ  วันพระ วันโกน ต้องมีดอกไม้ธูปเทียนไปสมาก้อนเส้า เตาไฟ ประตู บันได  ถือว่าสิ่งเหล่านี้มีเทวดาคุ้มครอง วันพระต้องไปฟังเทศน์ ทำบุญ การตักบาตรต้องไม่ให้พระมารอนาน อย่าถูกต้องพระ หรือบาตร อย่าอุ้มเด็ก  หรือถืออาวุธ ถือร่ม ถือรองเท้าเวลาตักบาตร พบพระนั่งลงยกมือไหว้   อย่าเอาอาหารเหลือกินตักบาตร อย่าเหยียบเงาพระ อย่าเสพกามคุณในวันพระ วันโกน วันนักขัตฤกษ์ ฯลฯ
comments




เว็บเพื่อนบ้าน
DoesystemDevcodeMathMySelfHowToClicksBlogJavaExample