สติเป็นธรรมใหญ่
สติเป็นธรรมใหญ่
ขอให้พวกเราพยายามเปิดที่ว่างในใจของเรา ให้สติได้เจริญเติบโต เหมือนกับเราจะปลูกต้นไม้ เราก็ต้องเตรียมดินไว้ก่อน ถ้าหากดินนั้นรกปกคลุมไปด้วยวัชพืช ต้นไม้ก็เติบโตได้ยาก สติก็เช่นกันจะงอกงามได้ใจก็ต้องการที่ว่างในใจ ดังนั้นอย่าปล่อยให้ใจของเรารกไปด้วยสิ่งที่เป็นบาปอกุศล หรือความคิดฟุ้งซ่าน ค่อยๆแผ้วถางทาง ค่อยๆ เปิดช่องทางให้สติของเราได้เติบโต แล้วช่วยกันรดน้ำบำรุงสติสม่ำเสมอ การสร้างจังหวะ แต่ละจังหวะ การเดินจงกรม แต่ละก้าว เปรียบเหมือนกับการหยดน้ำลงไปในจิต เพื่อให้สติได้เจริญเติบโต ความจริง เรามีสติอยู่แล้วทุกคน เพียงแต่ว่า อาจจะไม่มีโอกาสเติบโตเท่าที่ควร เพราะวัชพืชทางอารมณ์ขึ้นรกปกคลุมจิตหนาแน่น เราต้องค่อยๆ ถากถางวัชพืชเหล่านี้ออกไปบ้าง ให้มีที่ว่างให้แดดส่องถึง คอยรดน้ำพรวนดินและใส่ปุ๋ยอยู่สม่ำเสมอ ความเพียร ความตั้งใจ ความศรัทธา เป็นเสมือนน้ำ ดิน แสงแดด ปุ๋ย ที่ช่วยบำรุงสติ ไม่ช้าไม่นานสติก็จะงอกงาม เวลาเราปลูกต้นไม้ กว่าแต่ละต้นจะเติบโตต้องใช้เวลานานมาก เราไม่ทันสังเกตหรอก ว่ามันเติบโตขึ้นอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นยอด กิ่ง ใบ หรือ ว่าราก เพราะเห็นด้วยตาได้ไม่ชัด เราดูทุกวันๆ ก็เหมือนกับว่ายังคงโตเท่าเดิม แต่ที่จริงแล้วต้นไม้โตขึ้นทุกวัน ทุกขณะ อย่าไปคอยวัดบ่อยๆ ว่ามันโตเท่าไหร่ รากลึกเท่าไหร่ มีตัวอย่างในนิทานชาดกเรื่องคนสวนกับลิง วันหนึ่งคนสวนไม่อยู่ ให้ลิงช่วยรดน้ำต้นไม้ให้ ลิงรดน้ำไปก็นึกสงสัยไป ว่าต้นไม้หยั่งรากลงไปในดินมากน้อยแค่ไหน มันจึงดึงต้นไม้ขึ้นมา เพื่อดูว่ารากยาวแค่ไหน เสร็จแล้วก็ใส่ต้นไม้กลับเข้าไปหลุม วันต่อมาพอรดน้ำเสร็จก็ดึงต้นไม้ขึ้นมาดูอีก เพื่อจะดูว่ารากมันหยั่งลึกแค่ไหน ทำอย่างนี้ไม่กี่วันต้นไม้ก็ตาย คนสวนกลับมาเห็นแทบสลบเลย เพราะต้นไม้ตายทั้งสวน พระพุทธเจ้าตรัสว่า สติเป็นใหญ่ในบรรดาธรรมทั้งหลาย สมาธิเป็นประมุข ปัญญาเป็นยอด วิมุติเป็นแก่น นิพพานเป็นที่สุด ฉะนั้น เราอย่าไปดูถูกสติ เพราะเขาเป็นใหญ่ในบรรดาธรรมทั้งหลาย สมาธิก็เป็นประมุข ปัญญาก็เป็นยอด สามตัวนี้สำคัญมาก สติคืออะไร สติ คือ ความระลึกได้ ความระลึกได้ คือ ไม่ลืมหรือไม่หลง คนเราระลึกได้หลายเรื่อง ระลึกได้ว่ามีนัดกับใครที่ไหน ระลึกได้ว่าร้านนี้ขายของแพง ระลึกได้ว่าใครเคยยืมเงินเราแล้วไม่จ่าย อันนี้ก็เป็นสติได้เหมือนกัน แต่ว่ามันไม่ใช่สติสำหรับการปฏิบัติเพื่อนำพาให้เราพ้นทุกข์ ถึงแม้มันอาจจำเป็นสำหรับการทำงานหรือการดำเนินชีวิตประจำวัน แต่เป็นความระลึกได้ในเรื่องนอกตัว เราอาจจำได้หลายเรื่อง ไม่ลืมอะไรอีกมากมาย รวมทั้งไม่ลืมตัว ไม่ลืมตัวในที่นี้แปลว่าอะไร คนที่ได้ดิบได้ดีแล้วไม่ลืมตัวว่าตัวเองเคยเป็นชาวไร่ชาวนา ไม่ลืมกำพืดเดิม ไม่หลงตัว อันนี้เรียกว่ามีสติได้เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นใหญ่แค่ไหน ก็ยังมีสติระลึกได้ว่าฉันเคยเป็นคนยากคนจน ไม่เป็นวัวลืมตีน นี่ก็เป็นความระลึกได้อย่างหนึ่ง ความไม่ลืมตัวนี้ ทำให้เราอ่อนน้อมถ่อมตน เปรียบเหมือนกับต้นข้าว ยิ่งมีรวงมากเท่าไหร่ ยิ่งอ่อนน้อมจนโค้งลงมาสู่ดิน นั่นเป็นตัวอย่างของความอ่อนน้อมถ่อมตนเพราะไม่ลืมตัว คือกลับคืนสู่ราก คืนสู่ดิน แต่ยังมีความไม่ลืมตัวบางอย่างที่ละเอียดกว่านั้น เช่น เวลาเราโกรธ พูดจารุนแรง เกือบจะด่าหรือใช้กำปั้นทุบตีเขา ยังไม่ทันทำก็รู้ตัวขึ้นมา ทำให้ไม่ลืมตัวจนทำสิ่งแย่ ๆ ออกไป อย่างนี้คือความไม่ลืมตัวที่สำคัญมาก ทำให้เราไม่ตกเป็นทาสของอารมณ์ สติที่หมายถึงความไม่ลืมตัวจนเป็นทาสอารมณ์ ทำให้รู้ทันอารมณ์ สติแบบนี้แหละที่จำเป็นสำหรับการปฏิบัติ เป็นการระลึกได้ในเรื่องกายและใจ ไม่ใช่ระลึกได้ในเรื่องนอกตัว สิ่งที่เป็นเหตุทำให้เราลืมตัวคือ การชอบส่งจิตออกไปข้างนอก ไปอยู่ที่รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส เรามีตา หู จมูก ลิ้น กาย รวมแล้วตั้งห้าอย่าง เพื่อรับรู้เรื่องโลกภายนอก ถ้าเราปล่อยใจออกไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย จนลืมกลับมาดูตัวเอง ก็ทำให้ลืมตัวหรือขาดสติได้เหมือนกัน มีเรื่องของพระกรรมฐานสี่รูป ท่านตั้งใจปฏิบัติแบบอุกฤษฏ์ จึงตกลงกันว่าจะนั่งสมาธิโดยไม่พูดไม่คุยกันเจ็ดวันเจ็ดคืน เช้าวันแรกผ่านไปด้วยดี พอตกค่ำได้ยินเสียงกุกกักๆที่วิหาร คล้ายจะมีคนเข้าไป พระรูปหนึ่งจึงโพล่งขึ้นมาว่า “มีใครลงกลอนวิหารหรือเปล่า” รูปที่สองได้ยินเช่นนั้นจึงพูดว่า “ท่านลืมแล้วหรือว่า เราตกลงกันว่าจะห้ามพูด”ท่านที่สามจึงพูดขึ้นมาบ้างว่า “แล้วท่านพูดขึ้นมาทำไม” เงียบสักพัก ท่านที่สี่ก็พูดขึ้นมาว่า “พวกท่านไม่ได้เรื่องเลย พูดกันทั้งหมดทุกคน มีแต่ผมคนเดี๋ยวที่ไม่ได้พูด” นี้คือตัวอย่างของการลืมตัว คนที่ลืมตัวมากที่สุดก็คือรูปที่สี่ ท่านลืมตัวเพราะอยากจะคุยโม้ว่าฉันเก่งกว่าคนอื่นหมด คนอื่นพูดทุกคน แต่ฉันไม่ได้พูด ความที่อยากจะคุยโวว่าฉันเก่ง เลยลืมตัวโพล่งออกมา คนเรามักมีนิสัยสองอย่าง ถ้าไม่ชอบคุยโวก็ชอบจ้องจับผิดผู้อื่น ทั้งสองอย่างมันทำให้ลืมตัวได้ การจ้องจับผิดนี้มันแฝงด้วยโทสะ เมื่อไม่ชอบเขาก็คอยจ้องจับผิดเขา ส่วนความอยากอวดตัวว่าฉันเก่ง มีสาเหตุมาจากมานะ มานะคือความถือตัว อยากเด่นกว่าคนอื่น นอกจากโทสะ และมานะแล้ว คนเรายังลืมตัวเพราะโลภะและทิฏฐิหรือความยึดติดในความคิดเห็น ที่ผู้คนเถียงกันเอาเป็นเอาตาย กลายเป็นทะเลาะกัน ก็เพราะตัวทิฏฐินี้แหละ สรุปก็คือเมื่อมีอารมณ์ครอบงำจิตแล้วก็ทำให้ลืมตัวได้ทั้งนั้น ลืมตัวจนทำอะไรที่แย่ ๆ ลงไป และสาเหตุที่อารมณ์ครอบงำจิตขนาดนั้นก็เพราะไม่รู้ตัว ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับใจ ความลืมตัวกับความไม่รู้ตัวจึงเกี่ยวข้องกันมาก จะเรียกว่าเป็นอันเดียวกันก็ได้ คนเราโกรธ ก็ไม่รู้ตัวว่ากำลังโกรธ เศร้าก็ไม่รู้ตัวว่ากำลังเศร้า ก็เลยจมอยู่ในความทุกข์เป็นวันเป็นเดือน นี่เป็นเหตุผลที่เราต้องมาฝึกสติกัน เพราะคนเราทุกข์แล้วยังไม่รู้ตัวเรียกว่า ทุกข์แล้วลืมตัว คนที่รวยแล้วลืมตัวนั้นมีไม่มาก เพราะมีน้อยคนที่จะร่ำรวย แต่แทบทั้งหมดทุกข์แล้วลืมตัวทั้งนั้น นอกจากนั้นเรายังลืมตัวปล่อยให้ความโกรธความเกลียดเข้ามาครอบงำ เวลาโกรธเกลียด ดูเหมือนเราจะรู้ตัว แต่จริงๆแล้วไม่รู้ตัวหรอก ไม่เช่นนั้นจะไม่หลุดเข้าไปในความโกรธเกลียดอีก เวลาเราเห็นคนอื่นโกรธเกลียด เราสังเกตได้ง่าย แต่พอเราเป็นเอง กลับไม่ค่อยรู้ตัว เป็นเพราะอะไร ก็เพราะจิตถนัดส่งออกนอก แต่ไม่ค่อยกลับมาดูตัวเอง เราจะกลับมาดูตัวจนรู้ทันอารมณ์ที่เกิดขึ้นได้ก็เพราะมีสติที่ฉับไว ดังนั้นการสร้างสติจึง เป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับพวกเราทุกคน การสร้างจังหวะ เดินจงกรมก็คือการปลูกสติคือฝึกให้รู้ตัวบ่อย ๆ ทีแรกก็รู้กายเคลื่อนไหว เดินก็รู้ ยกมือก็รู้ ต่อมาก็รู้ใจคิดนึก ฟุ้งก็รู้ โมโหก็รู้ รู้แล้ววางเอง ไม่ปล่อยใจลอยไปตามความคิดฟุ้งปรุงแต่ง ที่มักจะกลับไปหาอดีตหรือจมอยู่กับอนาคต แต่ก่อนเรามักปล่อยใจให้ลอยไปเรื่อย ๆ พอเรามีหลักโดยเอาอิริยาบถมาเป็นฐานของใจ ใจลอยเมื่อไหร่ก็ให้ระลึกว่าเรากำลังสร้างจังหวะเดินจงกรมอยู่ พอระลึกได้จิตก็กลับมาอยู่ที่การสร้างจังหวะเดินจงกรม รู้ตัวว่ากำลังทำอะไร แล้วก็อาจจะเผลอใหม่ แต่ใจก็จะระลึกได้ขึ้นมาอีก แล้วกลับมาอยู่กับอิริยาบถที่กำลังทำอยู่ หลักก็มีแค่นี้ อันนี้เป็นการฝึกให้มีความระลึกได้หรือรู้ตัวบ่อยๆ เมื่อรู้ว่าหลงไปอดีตหรืออนาคต จิตก็กลับมาอยู่กับปัจจุบัน รู้ตัวหรือรู้อิริยาบถการเคลื่อนไหว เดินก็รู้ว่าเดิน นั่งก็รู้ว่านั่ง สร้างจังหวะก็รู้ว่าสร้างจังหวะ กินก็รู้ว่ากิน นี้คือสติ อานิสงส์ของสติ สติมีอานิสงส์หลายอย่าง ตั้งแต่เรื่องพื้นๆ ไปจนถึงอานิสงส์ขั้นสูง พระเจ้าปเสนทิโกศลเคยปรารภกับพระพุทธเจ้าว่า พระองค์มีพระวรกายใหญ่อึดอัดเหลือเกินเนื่องจากเสวยเยอะ พระพุทธเจ้าก็ทรงแนะว่า “ให้มีสติทุกเมื่อ รู้ประมาณในการบริโภค เวทนาจะเบาบาง ทำให้แก่ช้า พระชนมายุยืนยาว” พระเจ้าปเสนทิโกศลก็ไปทำตามที่ทรงแนะนำ โดยสั่งให้มหาดเล็กท่องคำแนะนำทุกครั้งเวลาเสวยพระกระยาหาร เพื่อเตือนให้เสวยน้อยลง ไม่นานพระเจ้าปเสนทิโกศลก็มีพลานามัยดีขึ้น รู้สึกกระปรี้กระเปร่า จึงสรรเสริญพระพุทธองค์ว่า ทรงอนุเคราะห์พระองค์ด้วยประโยชน์ทั้งสองประการ คือประโยชน์เฉพาะหน้าและประโยชน์ระยะยาว ประโยชน์เฉพาะหน้าก็หมายถึงความสุขทางโลก ส่วนประโยชน์ระยะยาวก็หมายถึงความสุขทางธรรม พูดง่าย ๆ ว่าพระองค์ ว่าเป็นผู้รู้ทั้งในทางโลกและทางธรรม หรือโลกียะและโลกุตตระ สติมีประโยชน์ตั้งแต่เรื่องพื้นๆ เช่น ทำให้มีสุขภาพดี อายุยืน รวมไปถึงการทำมาหากิน หรือการเรียน ถ้าไม่มีสติ ก็ทำอะไรสำเร็จได้ยาก เพราะมัวลุ่มหลงกับความสุขทางวัตถุ นอกจากเรื่องทางโลกแล้ว เวลาต้องการทำจิตให้สงบ มีสมาธิ ก็ต้องอาศัยสติ เพราะความสงบที่แท้ เกิดจากใจที่รู้จักปล่อยวาง กำหนดอยู่ในอารมณ์เดียว ไม่แส่ส่ายฟุ้งซ่าน ซึ่งเป็นงานที่ต้องอาศัยสติมาก พระพุทธเจ้าเคยตรัสว่า ผู้ใด เมื่อเห็นรูปแล้วมีสติเฉพาะหน้า ไม่กำหนัด ไม่ติดใจในรูปนั้น แม้เสวยเวทนาอยู่ ทุกข์ย่อมสิ้นไป ไม่สั่งสมไว้ ผู้ที่ไม่สั่งสมทุกข์อย่างนี้ บัณฑิตกล่าวว่าอยู่ใกล้นิพพาน ถ้าอยากเข้าใกล้นิพพานก็ต้องอาศัยสติ ใครที่อยากพบพระพุทธเจ้าก็ต้องอาศัยสติอีกเหมือนกัน พระองค์ตรัสว่า ผู้ที่มีสติสัมปชัญญะ มีจิตมั่นคง มีสมาธิแน่วแน่ สำรวมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ผู้นั้นนับว่าอยู่ใกล้เราโดยแท้ เพราะเธอเห็นธรรม ผู้เห็นธรรมชื่อว่าเห็นเราตถาคต แม้จะอยู่ไกลนับร้อยโยชน์ก็ตาม ตรงกันข้ามใครที่ไม่มีสติสัมปชัญญะ จิตไม่มั่นคง ไม่สำรวมอายตนะทั้งหก ถึงแม้จะเกาะชายชายจีวรของเรา ก็นับว่าอยู่ไกลเราโดยแท้ เพราะเธอไม่เห็นธรรม ผู้ไมเห็นธรรม ย่อมไม่เห็นเราจะสำรวมอินทรีย์ได้ก็ต้องมีสติ อินทรีย์ ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย สำรวมในที่นี้หมายความว่า ระวังรักษามิให้อกุศลธรรมหรือความยินดียินร้ายครอบงำจิต เมื่อตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น เป็นต้น ใครที่อยากเห็นพระพุทธเจ้าก็ต้องมีสติ อยากใกล้นิพพานก็ต้องมีสติ อยากจะเอาชนะความตายก็ต้องมีสติ พระพุทธเจ้าทรงแนะวิธีที่จะทำให้มัจจุราชไม่เห็นตัว ดังตรัสสอนโมฆราชมานพว่า ท่านจงมีสติ มองเห็นโลกว่าเป็นของว่างเปล่า ถอนความเห็นว่าเป็นตัวเราเสียทุกเมื่อเถิด หากพิจารณาเห็นโลกอย่างนี้แล้ว มัจจุราชจักมองไม่เห็น มองเห็นโลกว่าเป็นของว่างเปล่า คือเห็นว่าโลกนี้ว่างเปล่าจากตัวตน เป็นอนัตตา ไม่สามารถควบคุมบังคับได้ ไม่มีตัวตนที่เที่ยงแท้ยั่งยืน แปรเปลี่ยนไปตามเหตุตามปัจจัย ถ้ามีสติ และเห็นโลกว่างเปล่าจากตัวตนอย่างนี้ มัจจุราชย่อมมองไม่เห็นตัว จึงเอาชนะมัจจุราชได้ มัจจุราชจะจับเราได้ก็ต่อเมื่อเห็นตัวเรา หรือเพราะเราคิดว่ามีตัวมีตน แต่ถ้าเราไม่มีตัวไม่มีตน ไม่มีความสำคัญมั่นหมายในตัวตน ความกลัวตาย หรือความรู้สึกว่าฉันตายก็ไม่มี มีแต่ความตาย แต่ไม่มีฉันตาย นี่เรียกว่ามัจจุราชทำอะไรไม่ได้ การที่จะไม่มีตัวไม่มีตนได้ต้องอาศัยสติ พระพุทธเจ้าตรัสกับท่านพาหิยะว่า ผู้ใดเห็นก็สักแต่ว่าเห็น ได้ยินก็สักแต่ว่าได้ยิน ได้กลิ่นก็สักแต่ว่าได้กลิ่น ได้รับรู้ธรรมารมณ์ก็สักแต่ว่ารู้ เมื่อนั้นเธอจักไม่มี เมื่อเธอไม่มี เธอก็ไม่ปรากฏทั้งในโลกนี้และโลกหน้า และไม่ปรากฏในโลกทั้งสอง นี้แหละคือที่สุดแห่งทุกข์ พอท่านพาหิยะได้ฟังและพิจารณาตามก็บรรลุอรหัตผลทันที เพราะเป็นความจริงอย่างยิ่ง สติปัฏฐานจึงเป็น อุบายสลายตัวตน คนเราถ้ายังไม่มีสติ ก็จะสำคัญมั่นหมาย ว่ามีตัวกูของกูอยู่ร่ำไป อย่างเช่น เวลาเราเดิน ถ้าไม่มีสติก็ไปนึกว่า มีฉันเดิน แต่ถ้าเรามีสติ เมื่อเดินก็มีแต่การเดิน ไม่มีฉันผู้เดิน เพราะเมื่อมีสติ ก็ไม่มีการปรุงว่าเป็นตัวกูของกู สติช่วยให้เห็นกายและใจ โดยไม่สำคัญมั่นหมายว่าเป็นผู้เป็น อย่างที่หลวงพ่อคำเขียนย้ำบ่อย ๆ ว่า ให้เห็นแต่อย่าเข้าไปเป็น เห็นความเครียด เห็นความปวด อย่าไปเป็นผู้เครียด ผู้ปวด ถ้าไม่มีสติเมื่อไร มันก็เข้าไปยึดมั่นสำคัญหมายว่า ความทุกข์เป็นของฉัน ฉันเป็นผู้ทุกข์ พอฉันเป็นผู้ทุกข์ ฉันเป็นผู้เจ็บ มัจจุราชก็เห็นตัวผู้ทุกข์ เห็นตัวผู้เจ็บ ก็เล่นงานซ้ำได้ แต่ถ้ามีสติแล้ว ความสำคัญมั่นหมายว่ามีผู้เจ็บ ผู้ป่วย ก็ไม่เกิดขึ้นคือไม่มีตัวตนปรากฏ ตัวตนหายไป มัจจุราชก็มองไม่เห็น ตามจับไม่ได้ ให้หมั่นเห็นกายและใจบ่อย ๆ อย่าไปเป็นผู้เป็น เห็นความคิด อย่าเป็นผู้คิด เห็นความปวด ความเมื่อย แต่อย่าเป็นผู้ปวด ผู้เมื่อย เห็นอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ จิตใจจะโปร่งเบา ไกลจากความทุกข์ จะเห็นได้ก็ต้องมีสติอยู่เสมอ ถ้าเข้าใจอย่างนี้ก็จะรู้ว่าสติมีอานิสงส์มาก ตั้งแต่เรื่องพื้นๆ เช่น การกิน การนอน ที่นอนไม่หลับส่วนใหญ่ก็เพราะไม่มีสติ สาเหตุที่คนนอนไม่หลับเพราะกังวล ฟุ้งซ่าน คุมความคิดไม่ได้ ยิ่งรู้ว่านอนไม่หลับ ก็ยิ่งกังวลหนักขึ้น เกิดความเครียดขึ้นมา ยิ่งอยากให้หลับไว ๆ กลับยิ่งไม่หลับ แต่ถ้าทำใจสบาย มันไม่หลับก็ช่างมัน ขณะที่ยังตื่นอยู่ก็คลึงนิ้ว ตามลมหายใจ มันจะหลับก็หลับ ไม่หลับก็ไม่หลับ คิดได้อย่างนี้เดี๋ยวมันก็หลับไปเอง อยากจะพ้นทุกข์ก็ต้องใช้สติ อยากจะเข้าใกล้พระนิพพานก็ต้องใช้สติ อยากจะเอาชนะความตายก็ต้องใช้สติ พระพุทธเจ้าถึงตรัสว่าสติเป็นใหญ่ในบรรดาธรรมทั้งปวง จึงขอให้พวกเราตั้งใจปฏิบัติ ถ้าเกิดฉันทะในการปฏิบัติ อุปสรรคที่เราเผชิญ จะกลายเป็นเรื่องเล็กน้อยและหมดไปในที่สุด