SLE โรคลูปัส (Systemic Lupus Erythematosus)

| การดำเนินชีวิต | โรคภัยไข้เจ็บ | 22098

SLE โรคลูปัส (Systemic Lupus Erythematosus)




พยาธิสภาพ

เป็นโรคที่เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายมีปฏิกิริยาตอบสนองกับเนื้อเยื่อของตตัวเอง โดยภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติของผู้ป่วยจะทำลายเนื้อเยื่อตัวเองโดยสร้างสารเคมีกลุ่มอิมโมโนโกลบูลิน (immunoglobulin) หรือเซลล์ลิมโฟไซต์ (lymphocyte) โดยโรคนี้มักจะมีความผิดปกติของอวัยวะได้หลายระบบ (เช่น ผิวหนัง ข้อกระดูก ไต ปอด หัวใจ เลือด สมอง เป็นต้น) พร้อมๆกัน และอาจมีความรุนแรงทำให้พิการหรือตายได้ โรคนี้พบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ พบมากในช่วงอายุ 20-45 ปี และพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายประมาณ 10 เท่า

สาเหตุ

ยังไม่ทราบแน่ชัด สันนิษฐานว่าเป็นผลมาจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายมีการตอบสนองอย่างผิดปกติต่อเชื้อโรคหรือสารเคมีบางอย่าง ทำให้มีการสร้างสารภูมิต้านทาน (แอนติบอดี) ต่อเนื้อเนื่อต่างๆ จึงจัดเป็นโรคภูมิต้านทานตนเอง (autoimmune) และกรรมพันธ์ (พบมากในคนที่มีพอแม่เป็นโรคนี้) บางครั้งพบว่าสาเหตุกระตุ้นให้เกิดอาการกำเริบ ได้แก่
- ยาบางชนิด (เช่น ซัลฟา ไฮดราลาซีน เมทิลโดพา ฯลฯ)
- การถูกแสงแดด
- การกระทบกระเทือนทางจิตใจ ความเครียด ความวิตกกังวล
- การตั้งครรภ์
- ฮอร์โมนเพศ พบมากในหญิงวัยหลังมีประจำเดือน และก่อนวัยหมดประจำเดือน

อาการและอาการแสดง




ที่พบได้บ่อยคือ มีไข้ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ปวดเมื่อยตามตัว ปวดและบวมตามข้อต่างๆ ซึ่งโดยมากจะเป็นตามข้อเล็กๆ (เช่น ข้อนิ้วมือ นิ้วเท้า) ทั้งสองข้างคล้ายๆกับโรคปวดข้อรูมาตอยด์ (แต่ต่างกันที่ไม่มีลักษณะหงิกงอ) ทำให้กำมือลำบาก อาการเหล่านี้จะค่อยเป็นค่อยไป นอกจากนี้มักจะมีผื่นหรือฝ้าแดงขึ้นที่ข้างจมูกทั้ง 2 ข้าง ทำให้มีลักษณะเหมือนปีกผีเสื้อ เรียกว่า ผื่นปีกผีเสื้อ (butterfly rash)

บางรายมีอาการแพ้แดด คือ เมื่อถูกแดด ผิวหนังจะมีผื่นแดงเกิดขึ้นชัดเจน อาการไข้และปวดข้อจะเป็นรุนแรงขึ้น

บางรายอาจมีจุดแดง (petechiae) หรือมีประจำเดือนมากกว่าปกติ ซึ่งอาจเป็นอาการระยะแรกของโรคนี้ก่อนมีอาการอื่นๆให้เห็นชัดเจน

บางรายอาจมีผมร่วงมาก มีจ้ำแดงๆขึ้นฝ่ามือ นิ้มมือนิ้วเท้าซีดขาวและเปลี่ยนเป็นสีเขียวคล้ำเวลาถูกความเย็น (Raynaud’s phenomenon) หรือมีภาวะโลหิตจางจากเม็ดเลือดแดงถูกทำลาย

ในรายที่เป็นรุนแรง อาจมีอาการบวมทั้งตัว (จากไตอักเสบ) หายใจหอบ (จากปอดอักเสบ ภาวะมีน้ำในโพรงเยื่อหุ้มปอด หรือหัวใจวาย)

ในรายที่มีการอักเสบของหลอดเลือดในสมอง อาจทำให้มีอาการทางประสาท เช่น เสียสติ ซึม เพ้อ ประสาทหลอน แขนขาอ่อนแรง ตาเหล่ ชัก หมดสติ และอาจตายภายใน 3-4 สัปดาห์

ปัญหาทางกายภาพบำบัด

- อาการปวดและอักเสบตามข้อต่างๆ
- อาการปวดและอักเสบบริเวณกล้ามเนื้อ แขนขาอ่อนแรงโดยเฉพาะต้นแขนต้นขา
- เส้นเอ็นอักเสบ ส่วนใหญ่มักเป็นบริเวณที่ต้องรับน้ำหนักมากๆ
- องศาการเคลื่อนไหวของข้อลดลง
- อาการบวมที่ขาซึ่งเกิดจากภาวะหลอดเลือดอุดตัน
- ในรายที่อาการรุนแรงอาจพบข้อผิดรูป

เป้าหมายและการรักษาทางกายภาพบำบัด

- การลดปวดและลดอาการอักเสบของกล้ามเนื้อ ข้อต่อ และเอ็นต่างๆโดยการใช้ความเย็น
- การเพิ่มองศาการเคลื่อนไหวของข้อต่อ และการแก้ไขข้อต่อที่ผิดรูป
- การลดบวมที่ต้นขาโดยการพันผ้ายืดร่วมกับการยกขาสูง
- การลดปวดที่กล้ามเนื้อโดยใช้ modality ต่างๆ รวมกับการเพิ่มความแข็งแรงโดยการออกกำลังกาย



ส่งเสริม ป้องกัน

1. โรคนี้สามารถแสดงอาการได้หลายแบบ เช่น มีไข้เรื้อรังคล้ายมาลาเรีย เอดส์ วัณโรค มีจุดแดงขี้น คล้ายไอทีพี บวมคล้ายโรคไตเนโฟรติก ชักหรือมดสติคล้ายสมองอักเสบ เป็นต้น ดังนั้นถ้าผู้ป่วยที่มีอาการเรื้อรัง ไม่ว่าจะเป็นอาการของระบบใด โดยไม่ทราบสาเหตุควรนึกถึงโรคนี้ไว้ก่อน
2. โรคนี้ถึงแม้จะมีความรุนแรง แต่ถ้าติดต่อรักษากับแพทย์เป็นประจำ และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด จะช่วยลดภาวะแทรกซ้อน และมีชีวิตยืนยาวได้
3. ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้อาจป้องกันมิให้อาการกำเริบได้ โดยทำจิตใจให้สบาย อย่าท้อแท้สิ้นหวังหรือวิตกกังวลจนเกินไป ส่วนผู้ที่แพ้แดดง่าย ควรหลีกเลี่ยงการออกกลางแดด ถ้าจำเป็นต้องออกแดด ควรกางร่ม ใส่หมวกใส่เสื้อแขนยาว
4. ผู้ป่วยมักมีภูมิคุ้มกันต่ำ ควรพยายามหลีกเลี่ยงการติดเชื้อ เช่น อย่ากินอาหารหรือน้ำดื่มที่ไม่สะอาด อย่าเข้าใกล้คนที่ไม่สบาย อย่าเข้าใกล้คนที่ไม่สบาย อย่าเข้าไปในที่ที่มีคนแออัด เป็นต้น และทุกครั้งที่รู้สึกไม่สบาย ควรรีบไปพบแพทย์ที่เคยรักษา

ที่มา: นายแพทย์สุรเกียรติ อาชานานุภาพ "ตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2-350 โรคกับการดูแลรักษาและการป้องกัน"

comments




เว็บเพื่อนบ้าน
DoesystemDevcodeMathMySelfHowToClicksBlogJavaExample